ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.
แม้ผืนฟ้าในยามเช้าจะมืดครึ้ม โปรยปรายด้วยละอองฝนไม่ขาดสายจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นวินเซนเต
แต่กระนั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งคณะเดินทางในโครงการสื่อมวลชนสัญจร
“ศรีเทพ ศูนย์กลางความเจริญแห่งลุ่มน้ำป่าสัก” ที่จัดขึ้นโดยกรมศิลปากร
ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ กรกฏาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา รถบัสพาหนะคันใหญ่ฝ่าสายฝนและการจราจรอันสุดแสนจลาจล
ออกจากหน้ากรมศิลปากร ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์
อย่างช้า ๆ แต่มุ่งมั่นและมีจุดหมาย นั่นคือการเดินทางเพื่อเรียนรู้
อาจเพราะด้วยแรงอธิษฐานของวิทยากรประจำรถ ที่บรรยายไปพลาง
สวดอ้อนวอนไปพลางตลอดทาง ทำให้เทพยดาฟ้าดินเห็นใจ ฝนจึงพลันขาดเม็ดลงแทบจะทันใดเมื่อเดินทางถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
คณะสื่อมวลชนเข้าฟังบรรยายสรุปจากคุณพงศ์ธันว์
สำเภาเงิน หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ก่อนเยี่ยมชมศูนย์บริการข้อมูลของอุทยานฯ
ซึ่งภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับนครโบราณแห่งนี้ไว้อย่างสวยงาม น่าสนใจ เพราะเรียงลำดับไปตามยุคสมัย
เข้าใจได้ง่าย
จากนั้นจึงพากันนั่งรถรางไฟฟ้า ลอดแนวอุโมงค์ต้นไม้เขียวชอุ่ม
ออกไปตระเวนชมโบราณสถานภายในอาณาบริเวณเมืองใน ได้แก่ ธรรมจักรศิลากับโบราณสถานเขาคลังใน
พุทธสถานอันงดงามด้วยปูนปั้นรูปคนแคระแบก ซึ่งเป็นหลักฐานความเจริญสมัยทวารวดี ปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพ
อันเป็นร่องรอยสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเขมรโบราณ ปิดท้ายรายการด้วยการออกไปเยี่ยมชมโบราณสถานนอกเขตเมือง
ทางด้านทิศเหนือของเมือง ได้แก่ ปรางค์ฤาษี ศาสนสถานแบบเขมรโบราณอันงดงามอีกแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้
ในบริเวณวัดป่าสระแก้ว และอีกแห่งคือโบราณสถานเขาคลังนอก ฐานเจดีย์สมัยทวารวดีขนาดมหึมาที่โดยรอบประดับด้วยซุ้มปราสาทในรูปแบบศิลปะอินเดียแปลกตา
โบราณสถานเขาคลังนอก |
ลายปูนปั้นเขาคลังใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ |
ร่องรอยทั้งหมดทำให้เห็นถึงพัฒนาการของนครโบราณศรีเทพ
ว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือประมาณ
๒,๐๐๐ ปีก่อน ดังปรากฏโครงกระดูก ๕ โครงในหลุมขุดค้นกลางศูนย์บริการข้อมูลฯ เป็นหลักฐานในยุคแรก
ก่อนจะพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองด้วยการรับอิทธิพลอารยธรรมเขมรโบราณจากอาณาจักรเจนละ
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ดังปรากฏหลักฐานเป็นเทวรูปในยุคสมัยนี้อยู่หลายองค์ ส่วนในระยะที่ ๓ จะรับเอาความเจริญของวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางในช่วงพุทธศตวรรษที่
๑๒-๑๖ และเมื่อวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลง เมืองศรีเทพก็หันไปรับเอาอิทธิพลอารยธรรมขอมโบราณสืบต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่
๑๗ กระทั่งถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงถูกทิ้งร้างไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
หลงเหลือเพียงร่องรอยความรุ่งเรืองทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
วัดมหาธาตุ เพชรบูรณ์ |
คณะทัศนศึกษาของเราพักแรมที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในคืนแรก
เพื่อตระเวนชมโบราณสถานภายในตัวเมืองในวันรุ่งขึ้น โดยเริ่มจากวัดมหาธาตุ
พระอารามหลวง ในอำเภอเมืองฯ อันเป็นที่ตั้งของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย สร้างขึ้นประมาณ
พ.ศ. ๑๙๒๖ ซึ่งที่นี่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เดินทางมาต้อนรับคณะสื่อมวลชนด้วย
ต่อจากนั้นจึงเดินทางต่อไปสักการะองค์พระพุทธมหาธรรมราชา
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่อัญเชิญในพิธีอุ้มพระดำน้ำของจังหวัดเพชรบูรณ์
เป็นประจำทุกปีที่วัดไตรภูมิ อารามสมัยกรุงศรีอยุธยาใจกลางเมือง อายุประมาณ
๔๓๔ ปี รวมทั้งชมแนวป้อมกำแพงเมืองโบราณสมัยอยุธยา และศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์
ช่วงบ่าย หลังจากแวะชมภาพจิตรกรรมเก่าแก่ฝีมือช่างงดงาม
เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติ บนผนังอุโบสถที่วัดศรีมงคล(วัดนาทราย) ในอำเภอหล่มเก่าเป็นรายการสุดท้ายของวันแล้ว
คณะก็เดินทางบนถนนอันคดเคี้ยว ข้ามขุนเขาอันสลับซับซ้อน และสวยงามด้วยทิวทัศน์ทะเลหมอก
เพื่อมาเข้าพักแรมที่จังหวัดพิจิตร
วัดโพธิ์ประทับช้าง |
โบราณสถานในจังหวัดพิจิตรเองมีอยู่หลายแห่ง
แม้ในวันรุ่งขึ้นสายฝนจะยังโปรยปราย ทว่าคณะสื่อมวลชนของเราก็ไม่ย่อท้อ คงมุ่งหน้าไปยังวัดโพธิ์ประทับช้าง
ซึ่งมีประวัติว่าเป็นสถานที่ประสูติสมเด็จพระเจ้าเสือ ซึ่งประจักษ์พยานคือพระวิหารสูงใหญ่ สถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย
ล้อมรอบด้วยปรางค์ราย และแนวกำแพง๒ ชั้น ก่อนจะมุ่งหน้าไป ชมอุโบสถเก่าที่เคยประดิษฐานหลวงพ่อเพชรที่วัดนครชุม
แล้วเดินเท้าสบาย ๆ
ใต้ร่มเงาแมกไม้เขียวขจี เข้าไปภายในอุทยานเมืองเก่าพิจิตรที่อยู่ติด
ๆ กัน ชมวัดมหาธาตุ เมืองพิจิตรเก่า
ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘
คณะทัศนศึกษา
อำลาเมืองชาละวันด้วยการสักการะหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิจิตร
เดินทางฝ่าสายฝนกลับสู่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับความประทับใจจากการได้พบได้เห็นเรื่องราวจากอดีตกาล
ผ่านร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งทั่วเมืองไทยยังมีอยู่อีกมากมายที่รอคอยให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเรียนรู้
เพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นมาของชาติ
สนใจสอบถามข้อมูลแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานสำคัญในลุ่มน้ำป่าสักได้ที่
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๒๐๕๐ และ ๐ ๒๒๒๔ ๔๗๐๒ ชมภาพถ่ายและวีดิทัศน์การเดินทางได้ที่ www.facebook.com/osotho
No comments:
Post a Comment