ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓
เรื่องราวของพญานาคหินขนาดยักษ์บนยอดภูลังกาเกิดฮือฮาขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
หลังจากมีผู้โพสต์ภาพถ่ายลงในสื่อสังคมออนไลน์ ภาพหนึ่งเป็นหินลักษณะเหมือนท่อนลำตัวใหญ่มหึมาขดม้วนซ้อนกันแลเห็นเกล็ดเหลี่ยมเหมือนเกล็ดงูอย่างชัดเจน
ในขณะที่อีกภาพเป็นก้อนหินใหญ่เต็มไปด้วยเกล็ดลักษณะเหมือนกับหัวงูขนาดยักษ์
เมื่อนำมาผนวกกับเรื่องราวตำนานความเชื่อของท้องถิ่น ทำให้เป็นที่โจษขานกันว่านี่แหละคือ
“พญานาคศิลาต้องคำสาป” ในตำนาน บ้างก็ว่าเป็นฟอสซิลของงูยักษ์ล้านปีที่กลายเป็นหิน
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี |
กรมทรัพยากรธรณีคือหน่วยงานที่เสนอตัวเข้ามาช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้
โดยช่วงวันที่ ๒๔ – ๒๖ มิถุนายน ที่ผ่านมา นายสมหมาย
เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายชัยพร ศิริพรไพบูลย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ และนายประดิษฐ์ นูเล
นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต ๒ ได้นำคณะสื่อมวลชนจากหลากหลายสาขาร่วมเดินทางทัศนศึกษาในโครงการ
“ตามรอยตีนไดโนเสาร์ที่นครพนม ชมหินเกล็ดพญานาคถ้ำนาคา
ล่องนาวาน้ำตก
ถ้ำพระที่ภูวัว แหวกดูตัวหินสามวาฬ ชมปรากฎการณ์ทะเลทรายในอดีตที่ภูทอก” ในพื้นที่จังหวัดนครพนม-บึงกาฬ
รูปปั้นไดโนเสาร์อิกัวโนดอนหน้าอาคารคลุมหลุมขุดค้น |
เที่ยวบิน
FD3398 ของแอร์เอเชียในยุคชีวิตวิถีใหม่
(New normal) เหินฟ้านำคณะสื่อมวลชนเดินทางสู่จังหวัดนครพนมในเช้าตรู่วันแรก
หลังจากแวะกราบสักการะพระธาตุท่าอุเทน
ปูชนียสถานสำคัญในพื้นที่เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่จุดหมายแรกคือ แหล่งเรียนรู้รอยตีนไดโนเสาร์ท่าอุเทน บ้านนากะเสริม ตำบลพนอม
อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม บนทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ (ท่าอุเทน-บ้านแพง)
ห่างจากอำเภอท่าอุเทน ๒๗ กิโลเมตร
รอยตีนไดโนเสาร์ปรากฏชัดเจนบนแผ่นหิน |
เดิมบริเวณนี้เป็นบ่อเหมืองหินทรายแดง
รอยตีนไดโนเสาร์ถูกพบในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ จากหินทรายแดงที่ถูกระเบิดออกมาจากชั้นหินเพื่อไปใช้ถมตลิ่งริมแม่น้ำ
ในเวลาต่อมาทางกรมทรัพยากรธรณีจึงได้ส่งคณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสเข้าไปศึกษาโดยละเอียด
พบว่าในยุคดึกดำบรรพ์ประมาณ ๑๐๐ ล้านปีที่ผ่านมาพื้นที่นี้เป็นชายตลิ่งของแม่น้ำโค้งตวัดไหลไปทางทิศจะวันตกเฉียงเหนือ
ลักษณะเป็นดินโคลน ยามหน้าแล้งไดโนเสาร์ที่ผ่านมาเหยียบย่ำลงไปฝากรอยตีนเอาไว้
เมื่อถึงหน้าฝนสายน้ำได้พัดตะกอนดินทรายเข้าทับถมแทรกอยู่ในรอยตีนเหล่านั้น เก็บรักษาผ่านกาลเวลายาวนานจวบจนถูกค้นพบในปัจจุบัน
แนวหินทรายที่พบรอยตีนไดโนเสาร์สร้างหลังคาครอบอย่างดีพร้อมทางเดินชม |
รอยตีนไดโนเสาร์ที่พบมีมากมายกว่า
๑,๐๐๐ รอย บน ๓๒ แนวทางเดิน ประทับอยู่บนชั้นหินตะกอนหมวดโคกกรวด ถือเป็นจุดที่พบรอยเท้าไดโนเสาร์มากที่สุดในประเทศไทย จำแนกได้เป็น ๔
ประเภท ๓๐ แนวทางเดินเป็นของไดโนเสาร์ ได้แก่
รอยตีนของไดโนเสาร์กินพืช (ซอโรพอด) คอยาว เดินสี่ขา รอยตีนของไดโนเสาร์อิกัวโนดอน
ที่เดินได้ทั้งสองขาและสี่ขา นิ้วหัวแม่มือมีเดือยแหลมใช้เป็นอาวุธ รอยตีนของไดโนเสาร์ออร์นิโธมิโมซอร์
หรือไดโนเสาร์นกกระจอกเทศที่มักอยู่ด้วยกันเป็นฝูง วิ่งเร็ว รอยตีนที่พบมีสามนิ้วคล้ายรอยตีนไก่
ปลายนิ้วมีเล็บแหลมคม และรอยตีนจระเข้ ๒
แนวทางเดิน ซึ่งถือเป็นรอยทางเดินจระเข้ดึกดำบรรพ์ที่พบเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
โฉมหน้าไดโนเสาร์นกกระจอกเทศเจ้าของรอยเท้าที่มีจำนวนมากที่สุด |
ทั้งหมดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพยากรธรณีเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์แห่งแรกของประเทศไทย
ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ โดยได้สร้างอาคารคลุมแนวลานหินรอยตีนไดโนเสาร์ พร้อมทำสะพานทางเดินยกระดับคู่ขนานไปตลอดแนวลานหิน
พร้อมป้ายสื่อความหมายให้ข้อมูลเป็นระยะสำหรับผู้เข้าชม รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด
๘ ไร่โดยรอบ สร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ ประดับประดาด้วยรูปปั้นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ชนิดที่พบรอยตีนในบริเวณนี้
เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาสำหรับผู้สนใจ
น้ำตกตาดขาม |
น้ำตกผาสวรรค์ |
จากนั้นคณะสื่อมวลชนเดินทางต่อไปยังจังหวัดบึงกาฬ ก่อนแวะเข้าไปที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อันเป็นที่ตั้งของหิน “พญานาคศิลาต้องคำสาป” จุดหมายสำคัญของการเดินทาง แต่การขึ้นไปยังหินพญานาคฯ ดังกล่าวต้องใช้เวลามากเนื่องจากที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ในช่วงเย็นวันแรกจึงเป็นเพียงการเข้าไปชมน้ำตกตาดขาม สายธารอันงดงามชั้นเดียวที่นักท่องเที่ยวท้องถิ่นนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ และน้ำตกผาสวรรค์ สายน้ำที่หลากไหลจากหน้าผาหินตัดตรงดิ่งเขียวขจี
ฝนซึ่งกระหน่ำอย่างหนักตลอดทั้งคืน
ทำให้เช้าวันรุ่งขึ้นอากาศเย็นสบาย เมฆฝนยังช่วยกรองแสงแดดอันแผดกล้าให้การเดินขึ้นสู่ยอดภูลังกาของชาวคณะไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไปนัก
จากจุดเริ่มต้นที่วัดถ้ำชัยมงคลเชิงเขาเส้นทางตัดผ่านผืนป่าร่มครึ้มเขียว
ไต่ขึ้นไปตามขั้นบันไดสูงชันรวมประมาณ ๑,๒๐๐ ขั้น ตลอดระยะทางประมาณ
๑.๕ กิโลเมตร
ทางเดินเข้าสู้ถ้ำนาคา |
ใช้เวลากว่า ๒ ชั่วโมง จึงถึงถ้ำนาคา
อันเป็นที่ตั้งของหินพญานาคฯ ลักษณะเป็นถ้ำแคบ ๆ
ที่เกิดจากการแตกแยกของชั้นหิน เดินลงไปในถ้ำตามทางลาดชันที่สองฟากเป็นผนังหินเขียวครึ้มด้วยมอสไลเคนเพียงไม่ไกล
ก็พบหินที่มีพื้นผิวเป็นเกล็ดเหลี่ยมคล้ายลำตัวของงูขนาดใหญ่ขดอยู่
ลักษณะตรงกับภาพที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เมื่อพิจารณาดูในระยะใกล้จึงเห็นว่าเหมือนกับลำตัวพญานาคจริง
ๆ
ไปพ้องเข้ากับเรื่องราว “ตำนานปู่อือลือนาคราช”
แห่งบึงโขงหลง ที่เล่าว่าบริเวณบึงแต่เดิมเป็นที่ตั้งเมืองรัตพานคร มีพระอือลือราชาเป็นผู้ครองนคร
เจ้าชายฟ้ารุ่ง บุตรของพระอือลือราชา ได้อภิเษกสมรสกับนาครินทรานี พระธิดาพญานาคราชแห่งเมืองบาดาลที่จำแลงกายเป็นมนุษย์ ต่อมานาครินทรานีล้มป่วย ทำให้ร่างกายกลับเป็นนาค แม้นางจะร่ายมนตร์คืนสภาพเป็นมนุษย์ได้ในที่สุด
แต่ชาวเมืองและพระอือลือราชาต่างพากันหวาดกลัว ขับไล่นางให้กลับไปเมืองบาดาล พญานาคราชผู้เป็นบิดาจึงมาขอเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของนางคืน
แต่พระอือลือราชาไม่คืนให้ ทำให้พญานาคราชโกรธแค้นมาก ตกกลางคืนจึงยกทัพขึ้นมาถล่มเมืองรัตพานครจนล่มสลายกลายเป็นบึงใหญ่
พระอือลือราชาถูกพญานาคราชจับตัวได้แล้วสาปให้กลายเป็นพญานาคหิน
จนกว่าจะมี “เมืองใหม่” เกิดขึ้นจึงจะล้างคำสาปของพระยานาคราชได้
ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับการค้นพบหินพญานาคภายหลังการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหม่
บรรยากาศแวดล้อมด้วยความเขียวขจี |
หากแต่ในทางวิชาการ
จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าลักษณะทางธรณีวิทยาหินในบริเวณนี้
มีชื่อทางวิชาการว่า “หมวดหินภูทอก” ประกอบด้วยหินสลับเรียงเป็นชั้นรวม ๒ ชนิด
คือหินทรายเนื้ออาร์โคสกับหินทรายแป้งเนื้อปนปูน อายุประมาณ ๗๕-๘๐ ล้านปี หินทั้งสองแบบสลับชั้นกันที่ความหนาประมาณ ๒๐๐ เมตร เมื่อหินยกตัวขึ้นเป็นภูเขา
น้ำฝนจะกัดกร่อนเฉพาะชั้นหินทรายแป้งเนื้อปนปูน เนื่องจากเป็นเนื้อหินละลายน้ำได้ ทำให้เกิดชั้นเว้าลักษณะคล้ายถ้ำ
ขนานยาวไปตามภูเขา สลับกับชั้นหินทรายซึ่งไม่ถูกน้ำฝนกัดเซาะละลายนูนเด่นขึ้นมาเป็นส่วนที่เหมือนลำตัวพญานาค
ส่วนพื้นผิวที่เรียกกันว่า
“หินเกล็ดพญานาค” เนื่องจากลักษณะเป็นรอยเหลี่ยมสม่ำเสมอตลอดทั่วบนพื้นผิวเหมือนเกล็ดงูขนาดใหญ่
ในทางธรณีวิทยาเรียกว่าปรากฏการณ์ “ซันแครก”(Suncrack)
เกิดจากการแตกของผิวหน้าหินทรายจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก
ระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา
หินทรายที่เกิดจากเม็ดทรายขนาดใกล้เคียงกันเมื่อเวลาแตกก็จะมีรูปแบบของการแตกเป็นหลายเหลี่ยมอย่างมีระเบียบเท่ากันตลอด
จึงมองดูเหมือนเกล็ดงูดังที่เห็น โดยหินเกล็ดพญานาคที่พบมีอายุประมาณ
๑ แสนปี
โขดหินลักษณะเหมือนหัวงูขนาดใหญ่ |
ส่วนภาพของหินหัวพญานาคที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ภายหลังพบว่าเป็นหินที่อยู่ในผืนป่าแขวงอุดมไซ ฝั่ง สปป.ลาว แต่ทางฝั่งไทยเราบนภูลังกาก็พบว่ามีหินหัวพญานาคเช่นกัน โดยต้องเดินลัดเลาะลานหินสลับผืนป่าไปยังบริเวณถ้ำไชยมงคลอันเคยเป็นที่จำพรรษาของหลวงปู่วัง พระเกจิอาจารย์แห่งภูลังกา ผ่านใต้เพิงผาที่มีสายน้ำตกสีขาวน้อย ๆ ทิ้งตัวลงสู่ผืนป่าเขียวเบื้องล่างไปไม่ไกล ก็จะพบโขดหินใหญ่ลักษณะคล้ายหัวงูที่เต็มไปด้วยเกล็ดอยู่ริมทางน้ำไหล มองดูคล้ายกับงูยักษ์กำลังก้มลงดื่มน้ำในลำธาร
น้ำตกงามบนลานหินทราย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว |
ถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปในบริเวณน้ำตก |
กลับลงจากยอดภูกันอย่างอ่อนล้า
ช่วงเย็นจึงเป็นเวลาผ่อนคลาย ล่องเรือชมทิวทัศน์ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคอีสานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
ซึ่งบนภูเขาหินทรายขนาดใหญ่เป็นลานกว้างขวางมีธารน้ำตกขนาดใหญ่
๓ ชั้นหลากไหลอยู่อย่างงดงาม
ส่งท้ายการเดินทางในวันสุดท้ายด้วยการไปเยี่ยมชมความมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยาของจังหวัดบึงกาฬอีกแห่ง
คือหินสามวาฬ ภูเขาหินทรายขนาดมหึมาสามก้อน ลักษณะรูปทรงคล้ายปลาวาฬสามตัวที่แหวกว่ายเรียงรายกันสามตัวพ่อ
แม่ ลูก ที่ตั้งอยู่ติดหน้าผาสูง
ในพื้นที่รวมประมาณ ๑๒,๐๐๐ไร่ ของป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าภูสิงห์
เพียงส่วนหนึ่งของหินสามวาฬยังมีขนาดมหึมา |
แหล่งธรณีวิทยาบริเวณป่าภูสิงห์จัดอยู่ในประเภทแหล่งธรณีสัณฐานที่มีความโดดเด่นควรค่าแก่การอนุรักษ์
โดยเฉพาะ“หมู่หินภูทอกน้อย”
ซึ่งเป็นหน่วยหินเพียงหน่วยเดียวในประเทศไทยที่แสดงถึงหลักฐานทางธรณีประวัติว่าในช่วง
๗๕ ล้านปีก่อน พื้นที่บริเวณจังหวัดบึงกาฬในฝั่งไทย รวมไปถึงแขวงอุดมไซ บอลิคำไซ ในสปป.ลาว
เคยเป็นทะเลทรายโบราณผืนใหญ่ ด้วยหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในลักษณะชั้นเฉียงระดับขนาดใหญ่ในโครงสร้างทางธรณีวิทยา
บ่งบอกการสะสมตัวจากลมในทะเลทราย ภายหลังจึงมีแม่น้ำโขงขึ้นมาแบ่งแยกพื้นที่ออกจากกัน
สนใจชมภาพถ่ายและวิดิทัศน์ของการเดินทางทัศนศึกษาในโครงการ
“ตามรอยตีนไดโนเสาร์ที่นครพนม
ชมหินเกล็ดพญานาคถ้ำนาคา ล่องนาวาน้ำตก ถ้ำพระที่ภูวัว แหวกดูตัวหินสามวาฬ
ชมปรากฎการณ์ทะเลทรายในอดีตที่ภูทอก” เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/artontheways
No comments:
Post a Comment