บ้านห้วยน้ำกืนกับบรรยากาศในยามเช้า |
ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๒
เวลากว่า ๑ ชั่วโมง ถูกใช้ในการเดินทางระยะทาง๑๔
กิโลเมตร ไปตามถนนวิบากเต็มไปด้วยหลุมบ่อ
ลัดเลาะลดเลี้ยวไปในทิวเทือกเขาอันสลับซับซ้อนของอำเภอเวียงป่าเป้า
จังหวัดเชียงราย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่หมู่บ้านห้วยน้ำกืน ต้นแบบของชุมชนคนอยู่กับป่าและชุมชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ ที่เพิ่งคว้ารางวัลเลิศรัฐ
สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี ๒๕๖๑ ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วมระดับดีเด่น
เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ
ถนนสายวิบากสู่บ้านห้วยน้ำกืน |
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ พร้อมผู้บริหาร นำคณะสื่อมวลชนจากหลากหลายสาขาร่วมเดินทางในระหว่างวันที่
๒๑- ๒๓ พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อทัศนศึกษาผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของพลเอกสุรศักดิ์
กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการให้มีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๕ โดยหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการ
คือการจัดการป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินงานให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน
บรรยากาศภายในโรงงานผลิตชา |
ด้วยแนวคิดนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืชจึงอนุญาตให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่ามาตั้งแต่ดั้งเดิมก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอยู่อาศัยในป่าต่อไปได้
พร้อมทั้งให้ชาวบ้านเหล่านี้มาช่วยเป็นผู้ดูแลรักษาป่า โดยจัดตั้งเป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (สสอ.)
ขึ้นมาในปี
พ.ศ. ๒๕๔๙
ก่อนหน้านั้นชาวบ้านบ้านห้วยน้ำกืนทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว
คือปลูกเสาวรสที่ต้องใช้สารเคมีและตัดไม้ทำลายป่ามาก ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนเองและคนที่อยู่พื้นราบถัดลงมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำแถบนี้จึงต้องเริ่มจากการสร้างฝายกักเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่
๙ เพื่อให้มีน้ำตลอดทั้งปีก่อน แล้วปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ไล่เรียงตามระดับความสูงตั้งแต่ไม้เรือนยอดเด่น
ไม้ชั้นบนให้ร่มเงา ไม้พื้นล่างใช้พืชท้องถิ่น ไม้ตามพื้นดิน และพืชหัว
เมื่อน้ำดีป่าดีแล้ว
จึงปรับพฤติกรรมชาวบ้านให้เลิกทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาทำเกษตรผสมผสานให้กลมกลืนกับธรรมชาติแทน
เช่น การปลูกกาแฟ จากเดิมปลูกในที่โล่งเปลี่ยนมาปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่แทน รวมทั้งปลูกพืชผลอื่น ๆ โดยเน้นไม้พื้นเมืองในท้องถิ่น
เพื่อให้เติบโตได้ผลดีในสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ
พร้อมกันนั้นได้ส่งเสริมให้ชุมชนบ้านห้วยน้ำกืนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์
จัดตั้งเป็นชมรมท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์
อุทยานแห่งชาติขุนแจขึ้น ปัจจุบันในบ้านห้วยน้ำกืนมีโฮมสเตย์อยู่ทั้งสิ้น
๑๓ หลัง บริหารด้วยระบบหมุนเวียน
นักท่องเที่ยวที่เข้ามาพำนักจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ และอาชีพของชาวบ้าน
ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ ได้แก่ ไร่ชา ไร่กาแฟ ที่นำมาผลิตเป็นชาและกาแฟอินทรีย์
ปลอดจากสารเคมี และการเลี้ยงผึ้ง เป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งคุณภาพดีราคาสมเหตุสมผล
ผลิตภัณฑ์ชาและน้ำผึ้งจากในหมู่บ้านแท้ ๆ |
ผลิตภัณฑ์ชาคุณภาพจากบ้านห้วยน้ำกืน |
กาแฟอินทรีย์มีหลากหลายให้เลือก |
บนเส้นทางคณะยังได้แวะเยี่ยมชมกิจการร้านกาแฟ
วิสาหกิจชุมชนของบ้านขุนลาว ที่ประสบความสำเร็จในการปลูกกาแฟ ผลิตเป็นกาแฟอินทรีย์ปลอดสารเคมี
๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “มีวนา”
ซึ่งได้รับรางวัลเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพมากมาย
ก่อนเดินทางต่อไปยังหน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว (ภูชี้ฟ้า) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานที่กำลังดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าให้อุดมสมบูรณ์กลับมาเป็นแหล่งต้นน้ำดังเดิม
โดยในการนี้ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำได้ทำพิธีเปิดแพรคลุมป้ายและปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นที่ระลึกบริเวณลานหน้าที่ทำการหน่วยด้วย
นายประสิทธิ์ วงศรีวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการต้นน้ำ ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง |
พิธีเปิดแพรคลุมป้ายหน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว (ภูชี้ฟ้า) |
หน่วยจัดการต้นน้ำแห่งนี้ได้ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่รับผิดชอบขึ้นมาได้ไม่น้อย
โดยเฉพาะผืนป่าใหญ่ในพื้นที่บริเวณภูชี้ฟ้า
ไม่เพียงฟื้นคืนสภาพความสมบูรณ์จนกลับมาเป็นแหล่งต้นน้ำได้เท่านั้น ยังเตรียมการจัดตั้งขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้าอีกด้วย
เพราะนอกเหนือจากจุดชมทิวทัศน์ทะเลหมอกบนภูชี้ฟ้าแล้ว อาณาบริเวณโดยรอบหน่วย ฯ
ยังเต็มไปด้วยดงต้นนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี
นางพญาเสือโคร่งจะสะพรั่งบานเป็นผืนป่าสีชมพูละลานตา
จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบสีสันความงามของดอกไม้ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
ทะเลหมอกบริเวณภูชี้ฟ้าซึ่งอยู่เหนือหน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว ขึ้นไปเล็กน้อย |
สนใจท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยว
หมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี บ้านห้วยน้ำกืน บ้านขุนลาว และอุทยานแห่งชาติขุนแจ
ติดต่อสอบถามได้ที่ ชมรมท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติขุนแจ โทรศัพท์ ๐๘
๔๓๖๖ ๕๒๑๓ ๐๙ ๒๗๑๙ ๙๕๕๘ และ ๐ ๕๓๓๑ ๗๙๖๙
ดีจัง
ReplyDelete