ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่อง อนุสาร อ.ส.ท....ภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๖๑
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบสถาปนาองค์กร
เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ซึ่งนับถึงปีนี้ก็เป็นเวลา ๕๘ ปีแล้วที่องค์กรแห่งนี้อยู่คู่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมาอย่างยาวนาน
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ท.) ก่อตั้งขึ้นจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
ซึ่งเล็งเห็นถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันจะมีผลดีต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
จึงดำริให้มีหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้น เปิดสำนักงานครั้งแรกที่ถนนศรีอยุธยาเมื่อ
วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยพันเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก
พร้อมด้วยพนักงานเพียง ๑๔ คนเท่านั้น
ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันก็ได้มีการจัดทำอนุสาร
อ.ส.ท.นิตยสารท่องเที่ยวประจำองค์กรออกวางจำหน่าย ด้วยยอดพิมพ์สูงสุดในบรรดานิตยสารคือ
๑๐,๐๐๐ เล่ม เพื่อใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ
ประเดิมผลงานในปีแรกเริ่มนี้ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยจำนวน
๘๑,๓๔๐ คน และสร้างเงินรายได้เข้าประเทศ ๑๙๖ ล้านบาท
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ทำหน้าที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวใหม่
ๆ ของประเทศออกเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักของทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
และยังได้สร้างสรรค์กิจกรรมงานประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นในภูมิภาคต่าง
ๆ อีกไม่น้อย ซึ่งหลายงานได้กลายเป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำในระดับนานาชาติไปแล้วในปัจจุบัน
เช่น งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์
งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางรวดเร็ว
จำเป็นต้องปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ อ.ส.ท.
ให้มีขอบเขตการปฏิบัติงานกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวใหม่
ๆ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว
และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ จึงได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เพื่อให้หน่วยงานการท่องเที่ยวของรัฐ มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบในการพัฒนาส่งเสริมเผยแพร่
และ ดำเนินกิจการริเริ่มให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
ตลอดจนคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวด้วย
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๗๒ วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ยกฐานะองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ท.) จัดตั้งเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้นประกอบกับทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีความหลากหลาย
ทั้งทางด้านธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ในปี พ.ศ.๒๕๒๕
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยก็สร้างปรากฏการณ์เป็นรายได้หลักที่นำเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศไทยอันดับ
๑ เป็นครั้งแรก
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศปีท่องเที่ยวประเทศไทย (Visit Thailand year) จนประสบความสำเร็จอย่างสูง
มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากถึง
๓,๔๘๒,๙๕๘ คน และสร้างเงินรายได้เข้าประเทศ ถึง๕๐,๐๒๔ ล้านบาท
และในส่วนของนักท่องเที่ยวในประเทศก็ได้มีการรณรงค์โครงการ”ไทยเที่ยวไทย” ในปี
๒๕๓๘ จนเกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกันอย่างคึกคัก
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๐
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้หันมาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วยสโลแกน
Amazing Thailand มหัศจรรย์เมืองไทย ด้วยสัญลักษณ์ลายไทยประยุกต์เป็นรูปดวงตาและคิ้ว
ประสบความสำเร็จเป็นที่สนใจและจดจำของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
ทำให้เกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างมาก
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แม้ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง
ในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังคงจัดโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่องโดยใช้ชื่อว่า Amazing Thailand, Amazing
Value มหัศจรรย์ประเทศไทย
มหัศจรรย์คุณค่า ในขณะเดียวกันในส่วนของการท่องเที่ยวในประเทศก็ได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเช่นกันในสโลกแกนที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น
“เที่ยวไทยให้ครบ พบไทยให้ทั่ว” “เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้” “กอดเมืองไทย ให้หายเหนื่อย” “เที่ยวหัวใจใหม่
เมืองไทยยั่งยืน”
จากการทำงานอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ทำให้ล่าสุดในปีพ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง
๓๔ ล้านคนเป็นครั้งแรก
ปี ๒๕๖๑ นับจากนี้ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย
เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน”จะเป็นแนวคิดหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อเน้นย้ำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่เกื้อกูลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
สังคม จิตวิทยาและการต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน
เพื่อนำพาประเทศไทย ไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ
ที่เจริญเติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานของความเป็นไทย
เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งคุณภาพชั้นนำของโลกที่แข็งแรงและยั่งยืน
ตราบชั่วกาลนาน
No comments:
Post a Comment