Wednesday, January 10, 2018

“ศาสตร์พระราชา” สู่การฟื้นฟูผืนป่าเมืองน่าน




ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

            “เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของแต่ละบริเวณมีจำนวนน้อยมาก ตำรวจก็มีน้อยมาก เปรียบเทียบกับป่าก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปดูแล วิธีที่จะทำ ก็ต้องให้ชาวบ้านที่อยู่ดีกินดีพอสมควรเป็นผู้ดูแลป่า จะดูแลทั้งไม่ให้ใครเข้ามาตัด ถ้ามีไฟไหม้ป่าเขาก็จะช่วยกันดับ...เราควรจะไปดูว่ามีที่ไหนที่สามารถไปตั้งหมู่บ้านให้ชาวบ้านเหล่านั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของเรา ในหลักการ เป็นวิชาการเดียวที่จะรักษาป่าไม้ไม่ให้พังไป ไม่ให้วอดไป นี่แหละคือการที่จะทำให้ป่านี้อยู่ได้ ต้องทำให้หมู่บ้านเหล่านั้น ชาวบ้านเหล่านั้น สามารถที่จะดูแลด้วยตนเอง...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ คือศาสตร์พระราชาที่ได้พระราชทานให้ไว้ นำไปสู่แนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืชในการฟื้นฟูผืนป่าโดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลรักษาป่าด้วยตนเอง 

 ขบวนคาราวานรถยนต์นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมป่าฟื้นฟูเมืองน่าน

  “เราได้ใช้วิธีการขอคืนพื้นที่จากชาวบ้านที่เข้าไปทำไร่ข้าวโพดบนสันดอย ให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชน ที่ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเพาะกล้าไม้ คัดเลือกพรรณไม้ที่จะปลูก ดูแลให้เติบโต โดยให้สิทธิ์ชาวบ้านในการเข้ามาเก็บผลผลิตที่ปลูกไว้ได้ ทำให้เราได้ป่าที่สมบูรณ์คืนกลับมา และได้ชาวบ้านเป็นผู้คอยดูแลผืนป่าอีกด้วย” นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ  ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทัศนศึกษาดูความคืบหน้าของการจัดการฟื้นคืนสภาพป่าต้นน้ำในจังหวัดน่านในระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ครั้งนี้ บอกเล่ากับสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทาง ถึงกระบวนการในการฟื้นฟูผืนป่าตามแนวทางแห่งศาสตร์พระราชา

            จุดแรกที่คณะแวะเยี่ยมเยือนคือศูนย์เรียนรู้เพาะชำกล้าไม้ชุมชน บ้านหัวนา หมู่ที่ ๙ ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน  ตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา เพื่อจัดเตรียมกล้าไม้สำหรับปลูกฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพและปลูกในพื้นที่รอบแนวเขตอุทยาน รวมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมและขยายพันธุ์ไม้หายาก  อีกทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับราษฎรในชุมชนและผู้สนใจ นายนวน ยานันท์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ประธานศูนย์เรียนรู้เพาะชำกล้าไม้ชุมชน ให้ข้อมูลว่าที่บ้านหัวนานี้เป็นแห่งแรกที่ราษฎรคืนผืนป่าให้กับชุมชน ปี ๒๕๕๙ จำนวน ๒๐๐ กว่าไร่และในปี ๒๕๖๐ อีกจำนวน ๔๐๐ กว่าไร่ รวมพื้นที่ป่าชุมชนในขณะนี้ได้ถึง ๖๐๐ กว่าไร่และคาดว่าจะยังมีราษฎรคืนพื้นที่เพิ่มเติมอีกเรื่อย ๆ

 ศูนย์เรียนรู้การเพาะชำกล้าไม้ชุมชนบ้านหัวนา


เดินทางไปต่อไปยังหน่วยจัดการต้นน้ำพงษ์ ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการคืนพื้นที่ให้ป่าชุมชน ทุกคนต่างเต็มใจให้ความร่วมมือในการคืนพื้นที่ป่าให้เป็นป่าชุมชน ส่วนหนึ่งก็เพราะเห็นถึงผลเสียของสารเคมีจากการทำไร่ข้าวโพด ประกอบกับอายุมากแล้ว รุ่นลูกหลานเข้าไปทำงานในเมือง ไม่มีใครทำไร่ จึงคิดว่าคืนพื้นที่ให้ป่าชุมชนจะเป็นประโยชน์มากกว่า 

ผอ. ประกิตได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “แนวทางการคืนพื้นที่ป่าให้ชุมชนและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของหมู่บ้านในรูปแบบนี้ มีโครงการที่จะทำใน ๒๗๐๐ หมู่บ้านทั่วประเทศ  ในปี ๒๕๖๑ ตั้งเป้าไว้ที่ ๖๐๔ ชุมชน เป็นในพื้นที่จังหวัดน่านและแพร่รวมกัน ทั้งหมด ๗๖ แห่ง เฉพาะที่น่าน ๕๖ แห่ง เริ่มต้นจากให้ชุมชนเพาะชำกล้าไม้ โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจะเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องการเพาะชำให้ ทางชุมชนเองสามารถเลือกพันธุ์ไม้ป่าเศรษฐกิจที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางอ้อม เช่น ใบ ดอก ยอด หรือแม้แต่หัวใต้ดิน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน นำมาเพาะกล้าในเรือนเพาะชำ ส่วนกล้าไม้จะนำไปปลูกในพื้นที่ฟื้นฟู เป็นป่ากินได้ในลักษณะเจ็ดชั้นเรือนยอด ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบเดิม เพื่อเพิ่มความเขียวขจีให้กับพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน”


 นายเหรียญ คำแคว่น นำคณะสื่อมวลชนชมป่าในบ้านของตนเอง

             “ป่าในบ้าน” ของนายเหรียญ คำแคว่น ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เป็นอีกจุดหนึ่งที่คณะต้องแวะเยี่ยมชม จากเดิมที่เป็นคนหาของป่าตัดต้นตาว นายเหรียญหันมาเป็น “เกษตรกรแนวคิด” ริเริ่มรวบรวมพรรณพืชที่เป็นผลผลิตของป่าไว้ในอาณาเขตบ้านตนเองอย่างครบถ้วน โดยอาศัยการสังเกตลักษณะการเติบโตของต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ในป่าธรรมชาติ  แล้วนำมาปลูกเลียนแบบ ทำให้สามารถเก็บผลผลิตโดยไม่ต้องเข้าไปในป่า ซึ่งวิธีการนี้ กรมอุทยาน ฯ ถือเป็นแนวทางที่ต้องสนับสนุน ให้ราษฎรปลูกป่าขึ้นในเขตบ้าน เพื่อลดการใช้ประโยชน์จากป่าธรรมชาติ หันมาใช้ประโยชน์จากป่าที่ปลูกขึ้นเอง ทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าอีกทางหนึ่ง


 ผืนป่าที่กลับคืนสภาพรอบบริเวณโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริภูฟ้า

 ผอ. ประกิต บรรยายสรุปให้กับคณะสื่อมวลชน

             ผ่านความคดเคี้ยวตามถนนลัดเลาะขุนเขา สู่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ณ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริภูฟ้า ผอ. ประกิตได้เล่าให้ฟังว่าเคยปฏิบัติงานอยู่ที่นี่เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ได้ริเริ่มนำเอาการปลูกป่าเจ็ดชั้นเรือนยอดให้ราษฎรมีส่วนร่วมมาใช้เป็นแห่งแรก ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริภูฟ้า โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒  นับตั้งแต่นั้น จากป่าเสื่อมโทรมถูกถางทำลายปลูกไร่ข้าวโพดจนเป็นเขาหัวโล้น ในวันนี้ฟื้นสภาพกลับเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ได้รับการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูฟ้า จนกลายเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูผืนป่าในปัจจุบัน

            คณะทัศนศึกษาพักแรมกันที่บ้านพักของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ในอำเภอปัว ซึ่งในยามค่ำคืนอากาศหนาวเย็นมากอุณหภูมิภายในบ้านพักประมาณ ๓ องศา ก่อนจะพากันตื่นแต่เช้ามืด เพื่อเดินทางไปยังจุดชมทิวทัศน์ ๑๗๕๑ อันเป็นจุดสูงที่สุดของอุทยานฯ ซึ่งว่ากันว่า สามารถเห็นทะเลหมอกสุดสายตา แต่ในหน้าหนาวเช่นนี้ ปรากฏทะเลหมอกปรากฏเพียงบางส่วนที่อยู่เหนือลำน้ำใหญ่ ๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตามยังคงได้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าสาดแสงสวยงาม


 ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า เห็นได้ชัดเจนจากจุดชมทิวทัศน์ ๑๗๕๑
 ต้นเต่าร้างยักษ์
 น้ำตกตาดหลวง
ส่วนจุดชมดวงอาทิตย์ตกอยู่บริเวณลานกางเต็นท์ ที่มีชื่อว่า “ลานดูดาว”  ใกล้กับศาลาชมทิวทัศน์มีต้นเต่าร้างยักษ์อายุนับร้อยปี โดยรอบยังเรียงรายไปด้วยต้นนางพญาเสือโคร่ง ที่จะออกดอกสะพรั่งบานเป็นสีชมพูละลานตาในช่วงเดือนมกราคม ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยภูคายังมีน้ำตกตาดหลวง น้ำตกแห่งใหม่ที่กำลังจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว งดงามด้วยสายน้ำสวยใสไหลเย็นกับฝูงปลาพลวงลอยตัวเป็นสายในลำธาร และสะพานไม้ไผ่เลียบเลาะไปตามแนวผาขนานไปกับสายน้ำ


 จุดชมทิวทัศน์ดอยน้ำงาว

 อาหารพื้นเมืองเลิศรส

 ชาวเหมี่ยนบนดอยน้ำงาว

ตะวันเกือบถึงกลางผืนฟ้าเมื่อรถในขบวนปรับระบบเข้าสู่ขับเคลื่อนสี่ล้อ บุกบั่นไปตามเส้นทางวิบากสู่หน่วยจัดการพื้นที่ต้นน้ำน้ำงาว  ซึ่งเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ชาวบ้านได้คืนพื้นที่ป่าให้เป็นป่าชุมชน บนลานกว้างเหนือยอดเขา ชาวบ้านในชุดชนเผ่าเหมี่ยนเต็มยศยืนเรียงรายรอต้อนรับ พร้อมอาหารพื้นเมืองจัดเตรียมเป็นมื้อเที่ยงให้กับคณะเดินทาง

พื้นที่บริเวณนี้ทางกรมอุทยาน ฯ ก็ได้มาจากจากขอคืนพื้นที่จากราษฎรเช่นกัน  ด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นยอดดอยสูงชมทิวทัศน์ได้เกือบ ๓๖๐ องศา อยู่ระหว่างคืนสภาพป่า และกล้าไม้ที่ปลูกไว้ส่วนหนึ่งจะเป็นนางพญาเสือโคร่ง เสี้ยว และพืชพื้นเมืองอื่น ๆ จึงมีโอกาสจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแห่งใหม่ของจังหวัดน่านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อไม้ดอกเหล่านี้เติบโดตสะพรั่งบานทั่วขุนเขา เช่นเดียวกันกับสภาพเขาหัวโล้น ที่จะหมดไปจากผืนป่าของเมืองน่าน เมื่อกล้าไม้ในป่าชุมชนแต่ละแห่งเติบโตกลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าขึ้นมา

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยศาสตร์ของพระราชา  พระสุรเสียงของพระองค์ครั้งทรงชี้แนะแนวทางยังคงดังก้องอยู่ในใจของเจ้าหน้าที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบดูแลผืนป่าทุกคน 

“...จะทำให้ป่านี้อยู่ได้ ต้องทำให้หมู่บ้านเหล่านั้น ชาวบ้านเหล่านั้น สามารถที่จะดูแลด้วยตนเอง...”     

 
 คณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนถ่ายภาพร่วมกันบนดอยน้ำงาว
              

***ศึกษาเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การเพาะชำกล้าไม้ชุมชน 
    ติดต่อที่นายนวน ยานันท์ โทรศัพท์ ๐๙ ๐๙๓๘ ๑๗๔๗   

***พักแรมแค้มปิ้งจุดชมทิวทัศน์พื้นที่ต้นน้ำงาว   
     ติดต่อที่ นายสาโรจน์ พนมพิบูลย์ โทรศัพท์ ๐๙ ๕๖๙๘ ๙๓๘๗

No comments:

Post a Comment